วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การนำเข้าสู่บทเรียน


สมาชิกกลุ่ม

 
1.นางสาว ผุสรัตน์  ภู่มาลา
สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา ปีที่3 
รหัส 53115260309



2.นางสาว ระวิวรรณ  พึ่งงาม
สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา ปีที่3
รหัส  53115260311


 
3.นางสาว พรพรรณ สงคราม
สาขาสังคมศึกษา ปีที่3
รหัส 53115710402



 นาย ฉัตรชัย  โสขุมา
สาขาสังคมศึกษา ปีที่3
รหัส 53115710430



บทที่  1

การนำเข้าสู่บทเรียน


      ก่อนที่เราจะออกกำลังกาย ก็ได้รับการแนะนำว่า เราควรจะเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อน ที่เรียกกันว่า วอร์มอัป (warm up) เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมและป้องกัน การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ในทำนองเดียวกันก่อนที่จะทำกิจกรรมใดๆ หากได้มีการเกริ่นนำหรือเตรียมความพร้อม หรือพูดกันโดยทั่วไปว่า อุ่นเครื่องก็คงทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้ว่ากำลังจะทำกิจกรรมใด และทำให้ความรู้สึกกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ ลดน้อยลงหรือหมดไป กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนก็เช่นเดียวกัน ครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมความพร้อม ป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดการบาดเจ็บในการเรียนรู้ ซึ่งก็คือ เกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหา สับสน กังวลใจ เบื่อหน่ายการเรียน หรือเรียนอย่างไม่มีความสุข
      ในบทนี้กล่าวถึง ความหมาย วัตถุประสงค์ และประโยชน์ของการนำเข้าสู่บทเรียน ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้กิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน การเตรียมตัวเพื่อจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน สรุปท้ายบท รวมทั้งคำถามทบทวนและกิจกรรมประจำบท

ความหมาย   

      ความหมายของคำว่า นำตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 หมายถึง เริ่มต้นโดยมีผู้อื่นหรือสิ่งอื่นตาม ฉะนั้น คำว่า นำเข้าสู่ก็เป็นการเริ่มต้นเพื่อไปสู่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนคำว่า บทเรียนหมายถึง คำสอนที่กำหนดให้เรียน (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 578,602) ฉะนั้น ตามรูปศัพท์ การนำเข้าสู่บทเรียนหมายถึง การเริ่มต้นเพื่อไปสู่เนื้อหาสาระหรือคำสอนที่กำหนดให้เรียน
      อรภัทร สิทธิรักษ์ (2540: 121) อธิบายว่า การนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง การจัดกิจกรรมก่อนเริ่มสอนเนื้อหาในทุกวิชา เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนให้รู้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร โดยนำเอาความรู้และทักษะที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูสอน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ชัดเจนขึ้น
      ชมนาท รัตนมณี (2541: 320) กล่าวว่า การนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง กิจกรรมที่จัดขึ้นเมื่อครูจะเริ่มสอน หรือจะทำกิจกรรมใดๆ เพื่อเป็นการเตรียมให้นักเรียนเกิดความสนใจ พร้อมที่จะติดตามบทเรียนต่อไป และรู้ว่าจะเรียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ทำให้มีจุดมุ่งหมายการเรียนชัดเจนยิ่งขึ้น
      ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และคณะ (2549: 167) อธิบายว่า การนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง การกระตุ้นและเร้าความสนใจของนักเรียนให้มีต่อบทเรียน ทำให้นักเรียนมีความพร้อมและ ความกระตือรือร้นที่จะเรียน นักเรียนรู้ว่าจะเรียนเรื่องอะไร โดยที่ครูไม่ต้องบอกโดยตรง และนักเรียนยังสามารถนำความรู้เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ได้อย่างถูกต้อง
      สุวรรณี ศรีคุณ (2527 :187) กล่าว่า ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง ทักษะที่ครูใช้ในการจัดกิจกรรมก่อนเริ่มสอนเนื้อหาในทุกวิชา เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนให้มีความคิดว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร สามารถนำเอาความรู้และทักษะที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูสอนได้ นอกจากนี้ยังทำให้นักเรียนเข้าใจความมุ่งหมายของบทเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยมากครูจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที สำหรับนำเข้าสู่บทเรียน
        สรุปได้ว่า การนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง การเตรียมตัวนักเรียนก่อนเริ่มเรียน และก่อนที่ครูจะสอนเนื้อหาทุกวิชา เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนให้รู้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร สามารถนำเอาความรู้และทักษะที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูกำลังจะสอนได้ ซึ่งทำได้โดยการหากิจกรรมที่เร้าความสนใจของนักเรียนแล้วเชื่อมโยงไปสู่บทเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของการนำเข้าสู่บทเรียน     

       การนำเข้าสู่บทเรียนเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และหากกิจกรรมนี้เริ่มต้นได้ ไม่ดี กิจกรรมการเรียนการสอนอื่นๆ ที่ตามมาก็ได้รับผลกระทบด้วย การนำเข้าสู่บทเรียนมีวัตถุประสงค์หลายประการ ดังรายละเอียดข้างล่างนี้
     สุวรรณี ศรีคุณ (2527: 187 อ้างถึงใน อินทิรา บุณยาทร, 2542: 218) กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสู่บทเรียน ก็เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียนให้นักเรียนมีความคิดว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร และสามารถนำเอาความรู้และเทคนิคเดิมที่มีอยู่มาสัมพันธ์กับเรื่องที่เรียน ก็จะทำให้เข้าใจบทเรียนใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
     เสริมศรี ลักษณศิริ (2540: 319) อธิบายว่า กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนเป็นกิจกรรมที่ครูทำเมื่อเริ่มต้นของการสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียนมาอยู่ที่การสอนของครู และเป็นการเตรียมนักเรียนให้มีสมาธิในการฟังเรื่องที่ครูจะสอน เป็นการทำให้นักเรียนเข้าใจความหมายของบทเรียนชัดเจนขึ้น นักเรียนรู้ว่าต่อไปจะเรียนเรื่องอะไร และสามารถนำเอาความรู้และเทคนิคที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูจะสอนต่อไปได้ การนำเข้าสู่บทเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้วัตถุประสงค์ของการเรียนนั้นๆ ชัดเจนขึ้นเพราะนักเรียนถูกดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนด้วย

      สรุปได้ว่า กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียน หรือดึงดูดความสนใจของนักเรียนมาอยู่ที่การสอนของครู และเป็นการเตรียมนักเรียนให้มีสมาธิ ในการฟังเรื่องที่ครูจะสอน นักเรียนรู้ว่าต่อไปจะเรียนเรื่องอะไร และสามารถนำเอาความรู้และทักษะเดิมที่มีอยู่มาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ ซึ่งทำให้นักเรียนเห็นแนวทางในการเรียนรู้ และจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการนำเข้าสู่บทเรียน
          เร้าความสนใจของนักเรียน
                              เตรียมให้นักเรียนมีความพร้อม
                              นักเรียนรู้ว่าจะเรียนเรื่องอะไร
                              นำความรู้และทักษะเดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่
ประโยชน์ของการนำเข้าสู่บทเรียน

   โดยทั่วๆ ไปครูที่มีความชำนาญในการสอนมักจะใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5-10 นาที จัดกิจกรรมก่อนเริ่มการเรียนการสอนเนื้อหา เพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนปรับประสบการณ์เดิมให้พร้อมที่จะประสานกับประสบการณ์ใหม่ และให้นักเรียนเข้าใจจุดมุ่งหมายของบทเรียนที่จะเรียนได้ดีขึ้น ถ้าครูมีเทคนิคในการนำเข้าสู่บทเรียนและนำไปใช้อย่างได้ผลก็จะทำให้เกิดผลดี ดังนี้ (พึงใจ สินธวานนท์, 2520: 349 อ้างใน เสริมศรี ลักษณศิริ, 2540: 319)
  1. สามารถเรียกร้องความตั้งใจของนักเรียนให้พร้อมที่จะเรียน
  2. สามารถเร้าและจูงใจให้นักเรียนคงความสนใจในบทเรียน
  3. สามารถบอกลักษณะและวิธีการสอนของเรื่องที่จะเรียนได้
  4. สามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมกับเรื่องที่จะเรียนต่อไปได้

      เฉลิม มลิลา (2526: 12) กล่าวถึงคุณค่าและประโยชน์ของการนำเข้าสู่บทเรียน ดังนี้
  1. ช่วยให้นักเรียนเกิดความพร้อมในการเรียนรู้
  2. ช่วยนักเรียนให้สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ได้อย่างมีความหมาย และโดยง่ายยิ่งขึ้น
  3. ช่วยกระตุ้นนักเรียนให้เกิดความสนใจ ใฝ่รู้ และเรียนด้วยความสนุกสนาน
  4. เป็นการปูพื้นฐานความรู้ ความคิด และแนวทางการประกอบกิจกรรมการเรียน การสอนประสบการณ์ใหม่ระหว่างครูและนักเรียนในเบื้องต้น
  5. เป็นสื่อเชื่อมโยงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักศึกษาครูก่อนดำเนินการสอนในขั้นต่อไป
  6. ช่วยให้นักเรียนเกิดมโนทัศน์ (Concepts) ที่ดีและถูกต้อง
  7. เป็นวิธีการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ให้มีความสัมพันธ์ หรือต่อเนื่องกันอย่างมีความหมาย
  8. ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำกิจกรรม และการมีสุขภาพจิตที่ดีของทั้งนักเรียนและครู
  9. ช่วยทำให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจบทเรียนได้ดีและรวดเร็วขึ้น
  10. ช่วยพัฒนาทัศนคติในการเรียนที่ดีให้กับนักเรียน
  11. เป็นช่องทางช่วยผ่อนแรงในการสอนของครู ให้สามารถกระทำได้โดยง่าย รวดเร็วและได้ผลดีสม   ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
  12. ผลสะท้อนกลับ (Feedback) จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน นับเป็นปัจจัยที่ช่วยในการปรับปรุงทักษะ และวิธีการนำเข้าสู่บทเรียนของครูในครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
   สรุปได้ว่า การนำเข้าสู่บทเรียนมีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นเทคนิควิธีการที่ช่วยให้นักเรียนเกิดความพร้อมเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นสื่อเชื่อมโยงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและนักเรียนก่อนดำเนินการสอนในขั้นต่อไป และช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมกับเรื่องที่จะเรียนต่อไปได้
ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้กิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน

       กล่าวโดยทั่วไปได้ว่า ในตอนเริ่มต้นของการสอนแต่ละครั้ง ครูควรเริ่มด้วยกิจกรรม การนำเข้าสู่บทเรียน นอกจากนี้ ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และคณะ (2549:167) ได้แนะนำสถานการณ์เฉพาะที่ควรใช้ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน ดังนี้

   1. เมื่อเริ่มเรื่องหรือเริ่มบทเรียนใหม่ เพื่อโยงเข้าสู่เรื่องที่จัดการเรียนรู้
   2. เมื่อจะมอบหมายการบ้านหรือการทำงาน เพื่อแนะนำวิธีการทำงานนั้น
   3. เมื่อเตรียมการอภิปราย เพื่อแนะนำให้นักเรียนดำเนินการได้ตรงตามเป้าหมาย
   4. ก่อนที่จะให้นักเรียนดูภาพยนตร์ ภาพนิ่ง วีดิทัศน์ ฟังวิทยุและเทป เพื่อแนะนำให้นักเรียนจับประเด็นของเรื่องที่ดูหรือฟังนั้นได้

      เฉลิม มลิลา (2526: 15) ได้ให้รายละเอียดของช่วงเวลาในการนำเข้าสู่บทเรียน ดังนี้
  1. ใช้เมื่อจะเริ่มต้นบทเรียน หรือเริ่มเรื่อง
  2. ใช้นำก่อนอธิบายและซักถามเนื้อหา
  3. ใช้นำก่อนการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และสรุปสัมพันธ์แนวความคิด หรือเนื้อหาสำคัญ
  4. ใช้เพื่อเตรียมการอภิปราย
  5. ใช้นำเพื่อสื่อความหมาย จุดประสงค์ และวิธีการประกอบกิจกรรมของนักเรียนที่ครูกำหนดให้ทำ
  6. ใช้นำเมื่อจะใช้เทคนิคการสอนแบบศูนย์การเรียน
  7. ใช้นำเมื่อจะใช้สื่อการเรียนการสอน
  8. ใช้ก่อนที่จะเสนอแนะให้นักเรียน เรียนบทเรียนจากภาพสไลด์ แผนที่ ฟิล์มสตริพ ภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์
  9. ใช้เพื่อสื่อแนวความคิด และวิธีการทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นแบบฝึกหัด หรือการบ้าน และงานค้นคว้านอกเวลา ฯลฯ
  10. ใช้เพื่อนำการแสดงบทบาท เล่าเรื่อง รายงาน หรือการสาธิตประสบการณ์ของนักเรียนเป็นคณะหรือรายบุคคล

   สรุปได้ว่า นอกจากการนำเข้าสู่บทเรียนในตอนเริ่มสอนแต่ละคาบหรือชั่วโมงแล้ว ในการเริ่มหัวข้อใหม่หรือเริ่มกิจกรรมใหม่ระหว่างคาบหรือชั่วโมง ครูก็ควรเตรียมความพร้อมของนักเรียนด้วยกิจกรรมต่างๆ ก่อนเริ่มหัวข้อใหม่หรือกิจกรรมใหม่นั้นด้วย กิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการเล่าเรื่อง การใช้คำถาม หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักเรียนสามารถตามทันเนื้อหาและสามารถเรียนรู้ได้ดี


เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน

   เทคนิคใดบ้างที่ครูควรใช้หรือเลือกใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน เป็นสิ่งที่ครูต้องคำนึงถึงและบรรจุลงไปในแผนการสอน เสริมศรี ลักษณศิริ (2540: 320) กล่าวว่า การนำเข้าสู่บทเรียนอาจจะทำได้ ดังต่อไปนี้ คือ
 1. ใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหาวิชา เช่น ใช้ของจริง หุ่น รูปภาพ เป็นต้น
 2. ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับบทเรียน
 3. สนทนาซักถามแล้วเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่จะสอน
 4. ร้องเพลง หรือเล่นละคร หรือการแสดงบทบาทสมมติ
 5. ตั้งปัญหา ทายปัญหา
 6. ทบทวนบทเรียนเดิมที่สัมพันธ์กับบทเรียนใหม่
 7. เล่านิทาน เล่าเรื่องราว เล่าเหตุการณ์ต่างๆ
 8. สาธิต ทดลอง เพื่อนำเข้าสู่เรื่องที่จะสอน เช่น ครูอาจเรียกเด็กหลายคนออกมาสาธิตการไหว้แบบต่างๆ การทำความเคารพ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับการสอนเรื่องวิธีทำความเคารพ เป็นต้น

      จำเริญ ชูช่วยสุวรรณ (2544: 167) ได้เสนอวิธีการนำเข้าสู่บทเรียนไว้หลายวิธี ดังนี้
 1. โดยการใช้อุปกรณ์ เช่น ภาพ หุ่นจำลอง วีดิทัศน์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น
 2. โดยการร้องเพลง ครูอาจจะนำเพลงที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนมาร้องให้นักเรียนฟัง หรือให้นักเรียนช่วยกันร้อง
 3. โดยการเล่านิทาน เล่าเรื่อง หรือเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้สัมพันธ์ หรือสอดคล้องกับบทเรียนที่ครูกำลังจะ  สอน
 4. โดยการซักถาม เช่น ซักถามเพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาแล้ว หรือซักถามเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักเรียนแล้วโยงไปสู่เรื่องที่ครูจะสอน
 5. โดยการตั้งปัญหา หรือทายปัญหา
 6. โดยให้นักเรียนแสดง เช่น แสดงบทบาทสมมติ

     จากข้อเสนอแนะที่กล่าวมา รวบรวมได้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจที่ครูสามารถนำไปใช้ใน การจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ได้แก่
 1. ใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับบทเรียน เช่น ใช้ของจริง หุ่น รูปภาพ
 2. ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับบทเรียน
 3. สนทนาซักถามแล้วเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่จะสอน หรือ ตั้งปัญหา ทายปัญหา
 4. ร้องเพลง เล่นละคร การแสดงบทบาทสมมติ หรือให้นักเรียนทำพฤติกรรมประกอบท่าทาง ให้สอดคล้องกับบทเรียน
 5. เล่านิทาน เล่าเรื่องราว เล่าเหตุการณ์ต่างๆ
 6. ทบทวนบทเรียนเดิมที่สัมพันธ์กับบทเรียนใหม่
 7. สาธิต ทดลอง
 8. ให้ฟังเสียงต่างๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงระฆัง เสียงวิทยุ ฯลฯ
 9. ให้ดูภาพยนตร์ สไลด์ วีดิทัศน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่จะสอน

     สุวรรณี ศรีคุณ (2527 :187) กล่าว่าวิธีนำเข้าสู่บทเรียน มีหลายวิธี ดังนี้
 1. ใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเนื้อหา เช่น ฉายวีดีทัศน์ ให้ดูภาพ ให้ดูของจริง
 2. ใช้คำถาม เพื่อเชื่อมประสบการณ์เดิมของนักเรียนไปสู่ประสบการณ์ใหม่
 3. ให้นักเรียนสาธิตกิจกรรมที่สัมพันธ์กับบทเรียน เช่น นักเรียนสาธิตการกราบแบบเบญจางค
ประดิษฐ์ สาธิตการอาบน้ำเด็ก เป็นต้น
 4. เล่านิทาน หรือ เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ให้สัมพันธ์กับเรื่องที่เรียน
 5. ร้องเพลง ให้สัมพันธ์กับเรื่องที่จะเรียน เช่น ร้องเพลงฟันเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนเรื่อง การแปรงฟัน
 6. ตั้งปัญหาหรือเล่นเกมทายปัญหา
 7. การแสดงบทบาทสมมติ หมายถึง การที่ครูกำหนดสถานการณ์หรือเงื่อนไขให้แล้วนักเรียนคิดว่าจะทำอย่างไร

ข้อเสนอแนะในการนำเข้าสู่บทเรียน

 1. ศึกษาเนื้อเรื่องที่จะสอน และพิจารณาเลือกกิจกรรมให้เหมาะสม
 2. ศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้ให้ถ่องแท้ เช่น ถ้าจะเล่านิทานโดยการใช้หุ่น ก็ต้องรู้เทคนิคการเชิงหุ่นให้สนุกสนาน
 3. ควรรู้ประสบการณ์หรือความรู้ของนักเรียน เพื่อหาวิธีให้นักเรียนสนใจยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีประสบการณ์เดิมเลยก็เชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะสอนไม่ได้

      สรุปได้ว่า กิจกรรมการเรียนการสอนที่ครูควรใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียนนั้นมีหลากหลายกิจกรรมและรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นเพลง เกม หรือคำถาม ครูต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะบทเรียนหรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดให้มีขึ้นในลำดับต่อมา และกิจกรรมที่เลือกนั้นต้องสามารถเร้าความสนใจ และเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่จะเรียนเนื้อหาสาระสำคัญได้ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี บรรลุผลตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของการสอนในแต่ละครั้ง


การเตรียมตัวเพื่อจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน

      ในการเตรียมกิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียน ครูควรรู้ข้อมูล เทคนิค วิธีการที่สำคัญ บางประการ เพื่อใช้ในการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม และเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมให้ได้อย่างดีที่สุด

      สุวรรณี ศรีคุณ (2527: 187 อ้างถึงใน อินทิรา บุณยาทร, 2542: 218) กล่าวถึงเวลาที่ใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียนว่า ถ้าช่วงเวลาที่สอน 50-60 นาที จะใช้เวลาทำกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนประมาณ 5-10 นาที ซึ่งครูควรเตรียมการในกิจกรรม ดังต่อไปนี้
  1. ศึกษาเนื้อเรื่องที่จะสอน และพิจารณาเลือกกิจกรรมให้เหมาะสม
  2. ศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้ให้เข้าใจวิธีการ เช่น การเล่านิทานโดยใช้หุ่นก็ต้องรู้วิธีการเชิดหุ่นให้สนุก เป็นต้น
  3. ควรรู้ประสบการณ์หรือความรู้เดิมของนักเรียน เพื่อหาวิธีการให้นักเรียนสนใจยิ่งขึ้น เพราะถ้าไม่มีประสบการณ์เดิมเลย การเชื่อมโยงความรู้ก็จะทำไม่ได้

     เสริมศรี ลักษณศิริ (2540:321) ได้เสนอข้อแนะนำในการนำเข้าสู่บทเรียน ไว้สอดคล้องกับข้างต้น ดังนี้
  1. ครูควรรู้ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมของนักเรียนเพื่อหาวิธีทำนักเรียนสนใจ
  2. ศึกษาเรื่องที่จะสอน แล้วพิจารณาเลือกกิจกรรมนำเข้าสู่หน่วยให้ผสมกลมกลืนกัน
  3. ศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้ให้ถ่องแท้ เช่น จะเล่านิทานก็ต้องจำเรื่องราวของนิทานให้แม่นยำ ใช้สำนวนภาษาของบทสนทนาในเรื่องให้สนุกสนาน

      สรุปได้ว่า ในการจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ครูควรปฏิบัติในสิ่งต่างๆ ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
  1. ครูควรรู้ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมของนักเรียนเพื่อโยงให้สัมพันธ์กับกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนและเนื้อสาระบทเรียนใหม่
 2. ศึกษาเรื่องที่จะสอน แล้วพิจารณาเลือกกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนให้ผสมกลมกลืนกัน 
 3.ศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้ และฝึกฝนหรือเตรียมความพร้อมให้เกิดทักษะความชำนาญและความมั่นใจที่จะนำเสนอ

บทสรุป

       การนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง การเตรียมตัวนักเรียนก่อนเริ่มเรียน และก่อนที่ครูจะสอนเนื้อหาทุกวิชา เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนให้รู้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร สามารถนำเอาความรู้และทักษะที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูกำลังจะสอนได้ ซึ่งทำได้โดยการหากิจกรรมที่เร้าความสนใจของนักเรียนแล้วเชื่อมโยงไปสู่บทเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
       กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียน หรือดึงดูดความสนใจของนักเรียนมาอยู่ที่การสอนของครู และเป็นการเตรียมนักเรียนให้มีสมาธิ ในการฟังเรื่องที่ครูจะสอน นักเรียนรู้ว่าต่อไปจะเรียนเรื่องอะไร และสามารถนำเอาความรู้และทักษะเดิมที่มีอยู่มาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ ซึ่งทำให้นักเรียนเห็นแนวทางในการเรียนรู้ และจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
       การนำเข้าสู่บทเรียนมีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นเทคนิควิธีการที่ช่วยให้นักเรียนเกิด ความพร้อมเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นสื่อเชื่อมโยงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและนักเรียนก่อนดำเนินการสอนในขั้นต่อไป และช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมกับเรื่องที่จะเรียนต่อไปได้
      นอกจากการนำเข้าสู่บทเรียนในตอนเริ่มสอนแต่ละคาบหรือชั่วโมงแล้ว ในการเริ่มหัวข้อใหม่หรือเริ่มกิจกรรมใหม่ระหว่างคาบหรือชั่วโมง ครูก็ควรเตรียมความพร้อมของนักเรียนด้วยกิจกรรมต่างๆ ก่อนเริ่มหัวข้อใหม่หรือกิจกรรมใหม่นั้นด้วย กิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการเล่าเรื่อง การใช้คำถาม หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักเรียนสามารถตามทันเนื้อหาและสามารถเรียนรู้ได้ดี
     กิจกรรมการเรียนการสอนที่ครูควรใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียนนั้นมีหลากหลายกิจกรรมและรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นเพลง เกม หรือคำถาม ครูต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะบทเรียนหรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดให้มีขึ้นในลำดับต่อมา และกิจกรรมที่เลือกนั้นต้องสามารถเร้าความสนใจ และเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่จะเรียนเนื้อหาสาระสำคัญได้ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี บรรลุผลตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของการสอนในแต่ละครั้ง
      ในการจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ครูควรปฏิบัติในสิ่งต่างๆ ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
       1) ครูควรรู้ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมของนักเรียนเพื่อโยงให้สัมพันธ์กับกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนและเนื้อสาระบทเรียนใหม่
       2) ศึกษาเรื่องที่จะสอน แล้วพิจารณาเลือกกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนให้ผสมกลมกลืนกัน และ
       3) ศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้ และฝึกฝนหรือเตรียมความพร้อม ให้เกิดทักษะความชำนาญและความมั่นใจที่จะนำเสนอ  โดยทั่วๆ ไปครูที่มีความชำนาญในการสอนมักจะใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5-10 นาที จัดกิจกรรมก่อนเริ่มการเรียนการสอนเนื้อหา เพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนปรับประสบการณ์เดิมให้พร้อมที่จะประสานกับประสบการณ์ใหม่ และให้นักเรียนเข้าใจจุดมุ่งหมายของบทเรียนที่จะเรียนได้ดีขึ้น ถ้าครูมีเทคนิคในการนำเข้าสู่บทเรียนและนำไปใช้อย่างได้ผลก็จะทำให้เกิดผลดี ดังนี้ (พึงใจ สินธวานนท์, 2520: 349 อ้างใน เสริมศรี ลักษณศิริ, 2540: 319)

        ที่มา : ณรงค์ กาญจนะ.2553.เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น เล่ม 1.
                   พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.

"การนำเข้าสู่บทเรียนที่ดี  จะเป็นหนทางนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ไปแล้วกว่าครึ่ง”
“การนำเข้าสู่บทเรียนที่ดี ต้อง...สอดคล้อง และสัมพันธ์กับเรื่องที่จะสอน”


http://www.youtube.com/watch?v=JaODt2nLWT0&feature=youtu.be

3 ความคิดเห็น: